ปลานิยมแข่งขัน

ปลาทองหัวสิงห์จีน (Chinese lionhead)                จีนเป็นประเทศแรกที่เพาะพันธุ์ปลาทองสายพันธุ์นี้ ชาวตะวันตกเรียกปลาทอง สายพันธุ์นี้ว่า Lionhead ในประเทศไทยเรียกว่า ปลาทองหัวสิงห์จีน (Chinese lionhead)  ลักษณะเด่นของปลาทองสายพันธุ์นี้คือ มีส่วนหัวใหญ่กว่าลำตัว ส่วนหัวมีวุ้นขึ้นหนาแน่นกว่าปลาทองหัวสิงห์สายพันธุ์อื่นๆ  ส่วนหลังของปลาลาดโค้งเล็กน้อย แนวสันหลังไม่มีครีบหลังจะมีลำตัวยาวกว่าปลาทองหัวสิงห์ไม่มีครีบหลังจะมีลำตัวยาวกว่าปลาทองหัวสิงห์สายพันธุ์อื่นๆ ครีบหางใหญ่และปลายหางลาดเสมอแนวเดียวกับสันหลัง เมื่อโตเต็มที่มีขนาดเฉลี่ยประมาณ 15 เซนติเมตร แต่ก็เคยพบบางตัวมีขนาดใหญ่ถึง 25 เซนติเมตร อายุเฉลี่ยประมาณ 5-7 ปี

ปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่น (Ranchu)
                ปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่นเป็นปลาทองหัวสิงห์ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากที่สุด เนื่องจากมีรูปร่างสวยงามและมีสีเข้มสดใส เป็นปลาที่ชาวญี่ปุ่นผสมคัดพันธุ์มาจากปลาทองหัวสิงห์จีนลักษณะเด่นของปลาหัวสิงห์ญี่ปุ่น คือ มีลำตัวสั้นและโค้งมนมากกว่าปลาทองหัวสิงห์จีน ส่วนหัวมีวุ้นที่มีเนื้อละเอียด สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนบนหัว บริเวณกระพุ้งแก้มและบริเวณ
เหนือริมฝีปากสันหลังใหญ่หนาตั้งแต่โคนหัวจรดถึงปลายทาง ครีบหางต่อกับลำตัวเป็นมุมแหลมและข้อต่อหางโค้งต่ำเล็กน้อย ครีบทวารมีทั้งครีบเดี่ยวและครีบคู่

ปลาทองหัวสิงห์ลูกผสม (Hybrid lionhead, Ranchu x Chinese lionhead)                ปลาทองสายพันธุ์นี้เป็นลูกผสมที่เพาะพันธุ์ในประเทศไทยซึ่งนำเอาจุดเด่นของปลาทองหัวสิงห์จีนและสิงห์ญี่ปุ่นมารวมกันไว้ในปลาตัวเดียวกัน สาเหตุของการผสมข้ามพันธุ์เนื่องจากปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่นจะผสมพันธุ์ได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นการนำปลาทองหัวสิงห์จีนมาผสมด้วยจะช่วยให้ปลาแพร่พันธุ์ได้ง่ายและได้จำนวนลูกปลาเพิ่มมากขึ้น  ลักษณะเด่นของปลาทองหัวสิงห์ลูกผสมคือ วุ้นบนหัวของปลาจะมีขนาดปานกลาง ไม่ใหญ่ และหนาเท่าปลาทองหัวสิงห์จีนแต่ไม่โค้งและสั้นเท่าปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่น ครีบหางสั้นกว่าปลาทองหัวสิงห์จีนแต่จะยาวกว่าปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่น

ปลาทองหัวสิงห์สยาม (Siamese lionhead)                ปลาทองหัวสิงห์สยามหรือที่เรียก หัวสิงห์ตามิดดำ เป็นปลาทองลูกผสมที่มีต้นกำเนิดในประเทศไทย ที่มีลักษณะแบบหัวสิงห์จีนหรือหัวสิงห์ญี่ปุ่น ปกคลุมบริเวณหัวหนาแน่นจนมองไม่เห็นตา ลักษณะลำตัวคล้ายหัวสิงห์ญี่ปุ่น  ลักษณะเด่น ของปลาทองสายพันธุ์นี้ คือลำตัวและครีบต้องมีสีดำสนิท ไม่มีสีอื่นแซม

ปลาทองหัวสิงห์ตากลับ  (Celestial goldfish)
                ปลาทองพันธุ์หัวสิงห์ตากลับ เป็นปลาทองที่มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน ชาวจีนเรียกว่า โชเตนกัน (Chotengan) ซึ่งมีความหมายว่า ปลาตาดูฟ้าดูดาว หรือตามุ่งสวรรค์ ญี่ปุ่นเรียกชื่อปลาชนิดนี้ว่า เดเมรันชู (Demeranchu)  ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือมีตาหงายกลับขึ้นข้างบน ผิดจากปลาทองชนิดอื่น ๆ ตาใหญ่สดใสทั้งสองข้าง ส่วนหัวไม่มีวุ้น  หรือมีเคลือบเพียงเล็กน้อย ไม่มีครีบหลัง ลำตัวยาว หลังตรงหรือโค้งลาดเล็กน้อย ครีบหางยาว

ปลาทองสิงห์ตาลูกโป่ง (Bubble eyes goldfish)                ปลาทองพันธุ์นี้มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศจีน ลักษณะเด่นคือ ที่เบ้าตาของปลาทองชนิดนี้มีถุงน้ำขนาดใหญ่ดูคล้ายมีลูกโป่งติดอยู่ที่บริเวณใต้ตาซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "สิงห์ตาลูกโป่ง" ญี่ปุ่นเรียกว่า ซุอีโฮกัน (Suihogan) ถุงน้ำใต้ตา ปกติจะโปร่งแสงและมีขนาดเสมอกัน ปลาทองพันธุ์นี้ที่ส่วนหัวจะไม่มีวุ้น หรือมีเคลือบบ้างเพียงเล็กน้อย ไม่มีครีบหลัง ครีบหางยาว

ปลาทองออรันดาหัววุ้น (Dutch lionhead)                ปลาทองสายพันธุ์นี้ญี่ปุ่นเป็นผู้เพาะพันธุ์ขึ้นสำเร็จ และเรียกชื่อว่า "ออรันดาชิชิกาชิระ" (Orandashishigashira) ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Dutch lionhead  ลักษณะเด่นคือ บริเวณหัวด้านบนมีวุ้นมาก มองจากด้านบนเห็นเป็นก้อนกลมหรือเหลี่ยมคล้ายปลาสวมหมวกไว้บนหัว โดยปกติวุ้นมีลักษณะละเอียดกว่าวุ้นของปลาทองหัวสิงห์ ครีบและครีบหางมีลักษณะแผ่กว้างและไม่สั้นจนเกินไป สำหรับปลาทองออรันดาสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงในบ้านเรานอกจากออรันดาหัววุ้นแล้ว ยังมีออรันดาหัวแดง ซึ่งภาษาอังกฤษเรียก Redcap oranda  ภาษาญี่ปุ่นเรียก ตันโจ มีลักษณะลำตัวมีสีขาวเงิน วุ้นบนหัวเป็นก้อนกลมสีแดง คล้ายปลาสวมหมวกสีแดง ออรันดาห้าสี ลักษณะเหมือนออรันดาหัววุ้นทั่วไป แต่สีที่ลำตัวมี 5 สี คือ ฟ้า ดำ แดง ขาว ส้ม และ อีกชนิดหนึ่งคือ ออรันดาหางพวง ซึ่งชนิดนี้ครีบหางจะยาวเป็นพวง ครีบหลังพริ้วยาว ที่หัวมีวุ้นน้อยหรือไม่มีเลย

ปลาทองริวกิ้น (Ryukin)                ปลาทองพันธุ์ริวกิ้น (Ryukin) มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Veiltail goldfish เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงกันแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเนื่องจากเป็นปลาที่มีรูปร่างและสีสันสวยงามมีท่วงท่าการว่ายน้ำที่สง่างาม  ลักษณะเด่นของปลาทองริวกิ้นคือ  ลำตัว ด้านข้างกว้างและสั้น ส่วนท้องอ้วนกลม มองจากด้านหน้าโหนกหลังสูงเท่ากับส่วนโค้งของคอ ลักษณะปลาที่ดีส่วนหัวจะต้องเล็ก เกล็ดหนา ขึ้นเรียงเป็นระเบียบ สีที่พบมีทั้งสีแดง ขาว-แดง และส้ม หรือมีห้าสีคือ แดง ส้ม ดำ ขาว ฟ้า ซึ่งในบ้านเรานิยมเรียกกันว่า  ริวกิ้นห้าสี
ปลาทองตาโปน (Telescope eyes goldfish)                ปลาทองตาโปนนี้ญี่ปุ่นเรียกว่า เดเมคิน (Demekin)  ซึ่งหมายถึง ปลาตาโปน มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษด้วยกันอยู่หลายชื่อ บางครั้งก็เรียก Pop - eyes goldfish ส่วนชาวจีนนิยมเรียกว่า Dragon eyes  ซึ่งหมายถึง ปลาที่มีตาเหมือนตามังกร ลักษณะเด่นของปลาทองพันธุ์นี้คือ ตาของปลาจะยื่นโปนออกไปข้างหน้า จนดูคล้ายกับกล้องส่องทางไกลจึงมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Telescope eyes goldfish ลักษณะที่ดีของปลาทองชนิดนี้คือ ตาจะต้องโตและตาสองข้างมีขนาดเท่าๆ กัน ปลาทองตาโปนที่นิยมเลี้ยงในบ้านเรามีหลายสายพันธุ์ ได้แก่

ปลาทองตาโปนญี่ปุ่น (Red telescope-eyes goldfish)                 ซึ่งบางคนเรียก Red metalic globe-eyes เป็นปลาทองพันธุ์ตาโปนที่มีสีแดงตลอดทั้งลำตัว ชาวญี่ปุ่นเรียกปลาพันธุ์นี้ว่า  อะคาเดเมะคิน (Akademekin) แต่ปัจจุบันสีที่นิยมเลี้ยงในบ้านเราได้แก่ ขาวแดง ขาวส้ม ส้มหรือขาวดำ

ปลาทองตาโปนห้าสี (Calico telescope-eyes goldfish)                 ญี่ปุ่นเรียกว่า ซันโชกุเดเมะคิน (Sanshokudemekin) ซึ่งแปลว่า ปลาทองตาโปนที่มีสีสามสีอยู่ในตัวเดียวกันในบ้านเรานิยมเรียกว่า ปลาห้าสีซึ่งได้แก่ ปลาที่มีสีแดง ดำ ขาว ส้มและฟ้า

ปลาทองพันธุ์เล่ห์ (Black telescope eyes goldfish หรือ Black moor) 
                คนไทยบางครั้งเรียกปลาสายพันธุ์นี้ว่า ลักเล่ห์ ส่วนชาวญี่ปุ่นเรียกว่า คุโรเดเมะคิน (Kurodemekin)  เป็นปลาทองตาโปนที่มีสีดำหรือสีนาก ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็นสายพันธุ์ย่อยๆ ได้อีกตามลักษณะลำตัว ลักษณะสีและลักษณะหาง เช่น เล่ห์กระโปรง เล่ห์ตุ๊กตา เล่ห์ควาย และผีเสื้อ (หลังอูฐ)

ปลาทองเกล็ดแก้ว (Pearl scale goldfish) 
                ปลาทองพันธุ์เกล็ดแก้วเป็นปลาทองที่มีลักษณะแตกต่างจากปลาทองสายพันธุ์อื่นๆ คือ มีเกล็ดนูนขึ้นมาจนเห็นเป็นตุ่มและมีลำตัวอ้วนกลมประเทศไทยมีชื่อเสียงในฐานะที่สามารถเพาะพันธุ์ปลาเกล็ดแกล้วหน้าหนูได้เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วโลกว่าเป็นปลาทองที่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่น โดยมีส่วนหัวเล็กแหลมและลำตัวอ้วนกลม ประกอบกับเกล็ดที่มีลักษณะเป็นตุ่มในลำตัวทำให้มองดู เหมือนลูกกอล์ฟที่สามารถเคลื่อนไหวได้ใต้น้ำ ปลาทองเกล็ดแก้วที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เกล็ดแก้วหน้าหนู เกล็ดแก้วหัววุ้น และเกล็ดแก้วหัวมงกุฎ